เริ่มต้นวางแผนการเงิน

เริ่มต้นวางแผนการเงิน

เงิน นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญกับการดำรงชีพของคนในปัจจุบัน ถึงแม้เงินจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่การมีเงินให้ใช้จ่ายอย่างพอเพียงและเหมาะสมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข และสะดวกสบายขึ้น

การบริหารจัดการด้านการเงินเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญทักษะหนึ่ง เพราะตลอดช่วงชีวิตของคนเรา จะมีช่วงต้นของชีวิตที่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่นในการเลี้ยงดู จนกว่าเราจะเติบโตจนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ มีช่วงเวลาที่เรามีความสามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้ด้วยตนเองและมากพอที่จะเลี้ยงดูหรือแบ่งปันให้บุคคลอื่น จนถึงช่วงท้ายของชีวิตในวัยชราที่เราไม่สามารถทำงานหารายได้มาเพื่อใช้จ่ายได้ 

ดังนั้นการวางแผนทางการเงินจะช่วยให้เราสามารถจัดสรรทรัพยากรหรือเงิน ให้เพียงพอที่จะใช้ไปตลอดทุกช่วงของชีวิตอย่างเหมาะสม การวางแผนการเงินยังเปรียบเสมือนการวางแผนชีวิต โดยการวางแผนการเงินที่ดีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้

กระบวนการวางแผนการเงินประกอบไปด้วย ขั้นตอนสำคัญ 6 ขั้นตอน

  1. ตรวจสอบสถานะทางการเงินในปัจจุบัน การสำรวจสถานะตัวเองเปรียบเสมือนการหาจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะจะเป็นตัวกำหนดว่า ณ ปัจจุบันเราอยู่ที่ตรงไหน จากนั้นเราจึงจะสามารถกำหนดเป้าหมายและเส้นทางที่เป็นไปได้ที่จะไปยังเป้าหมายอย่างเหมาะสม การตรวจสอบสถานะทางการเงินทำได้ง่ายๆ ด้วยการเริ่มต้นบันทึกรายรับ รายจ่ายของตัวเองในแต่ละวัน เพื่อในตอนสุดท้ายเราจะมาสรุปว่าในแต่ละเดือนเรามีกระแสเงินสด หรือการไหลเข้า ไหลออกของเงินเป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นก็เป็นการทำบันทึกรายทรัพย์สิน รวมถึงหนี้สิน ณ ปัจจุบัน โดยตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน ทั้งหมดนี้เพื่อให้รู้สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของเรานั่นเอง
  2. กำหนดเป้าหมายทางการเงินอย่างเหมาะสม เป้าหมายทางการเงินสามารถแบ่งเป็นระยะต่างๆ ได้ 3 ระยะ คือ เป้าหมายระยะสั้น (ประมาณ 1-3 ปี), เป้าหมายระยะกลาง (ประมาณ 3-7 ปี) และเป้าหมายระยะยาว (ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป) เราสามารถกำหนดเป้าหมายได้หลายเป้าหมายแต่ก็ควรกำหนดความสำคัญของเป้าหมายไว้ด้วย และหนึ่งในเป้าหมายที่คนทุกคนต้องมีคือ วางแผนเกษียณอายุ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หากเราไม่มีเงินพอ การใช้ชีวิตในช่วงที่ร่างกายไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
  3. มองหาเส้นทาง หรือทางเลือกต่างๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ในกระบวนการนี้จะต้องอาศัยการหมั่นหาความรู้ทางด้านการเงิน เพราะความรู้ทางการเงินจะเป็นตัวช่วยให้เรามองเห็นทางเลือกอื่นที่มากขึ้น เข้าใจข้อจำกัดของแต่ละทางเลือก ไม่มีทางเลือกใดที่ดีที่สุดตลอดไป ทุกทางเลือกมีข้อดี ข้อด้อยในตัวเอง บางทางเลือกเหมาะกับคนช่วงอายุหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนอีกช่วงอายุหนึ่งก็ได้
  4. ประเมินทางเลือก เมื่อเราได้ทางเลือกต่างๆ มาแล้ว ก็มาถึงกระบวนการที่สำคัญ คือการประเมินทางเลือกต่างๆ หาข้อดี ข้อด้อย เพื่อนำมาปรับและเลือกใช้ให้เหมาะกับช่วงชีวิตของเรา ในขั้นตอนนี้เราจะจัดทำเป็นแผนการออกมาเพื่อใช้เป็นตัวกำหนดวิธีการดำเนินการของแผนทางการเงิน เช่น ในแต่ละเดือน เราจะแบ่งเงินออมเท่าไหร่ แล้วจะนำไปออมไว้ในที่ใดบ้าง เช่น ฝากธนาคาร ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น หรือทำประกัน ฯลฯ
  5. นำแผนการเงินไปปฏิบัติ เมื่อได้ทางเลือกและกำหนดแผนมาแล้ว ก็เข้าสู่การนำไปปฏิบัติจริง เพราะลำพังการเขียนแผนไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำให้เป้าหมายกลายเป็นจริงได้ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาที่ยาวนานไปตามแผนที่ได้วางไว้ เรียกได้ว่าทำไปตลอดชีวิตของเราเลยก็ว่าได้ 
  6. ทบทวนและปรับปรุง แผนการเงินเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ระหว่างทางจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม เช่น การย้ายงาน การแต่งงาน การมีบุตร การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ฯลฯ ทุกอย่างล้วนมีผลกระทบกับแผนการเงินที่ได้วางไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสมอยู่เสมอ โดยทั่วไปหากเป็นสภาวะปกติอาจจะปีละครั้ง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์พิเศษ ก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ทันที

สำหรับผู้ที่ไม่เคยวางแผนการเงินมาก่อนเลย เราสามารถเริ่มต้นได้ทันทีจากการทำรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของเราขึ้นมา และเริ่มการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย นันตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ในตอนต่อๆ ไป เราจะมาลงในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความสุขอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิตของเรา

บอกต่อเรื่องราวดีๆ

ใส่ความเห็น